วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

ครั้งแรกของโลกทีมวิจัยม.มหิดลสร้างแอนติบอดีรักษาไข้เลือดออก

ครั้งแรกของโลก ทีมวิจัยคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล สร้างแอนติบอดีจากมนุษย์สำหรับรักษาไข้เลือดออก ระบุทีมวิจัยฯ คว้ารางวัลผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นดีเด่นปี 59 จาก วช. พร้อมเข้ารับรางวัล 2 ก.พ.นี้ ที่ไบเทค บางนา
 
          รศ.นสพ.ดร.พงศ์ราม รามสูต หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศการวิจัยแอนติบอดี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า โรคไข้เลือดออกจัดเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค จากรายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่า 2 ใน 5 ของประชากรโลกมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเดงกี และพบว่าประชากรประมาณ 100 ล้านคนทั่วโลกติดเชื้อไวรัส เดงกี ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ป่วยจำนวนถึง 5 แสนคน ที่เป็นโรคไข้เลือดออกชนิดรุนแรง ที่ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตถึง 2 หมื่นคนต่อปี ในการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออกยังไม่มียาหรือวัคซีนเฉพาะ การรักษาโรคไข้เลือดออกยังต้องใช้การรักษาตามอาการ
 
          ทีมวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศการวิจัยแอนติบอดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อนมหาวิทยาลัยมหิดล ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกในโลกในการสร้างแอนติบอดีจากมนุษย์ (NhuMAb) โดยคัดเลือกจากเซลล์ของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกระยะเฉียบพลัน และผู้ป่วยระยะฟื้นไข้ เป็นแอนติบอดีที่สามารถยับยั้งไวรัสไข้เลือดออกเดงกีได้ครบทั้ง 4 สายพันธุ์ ได้ทดสอบในหนู และ ลิง พบว่า NhuMAb สามารถเพิ่มการรอดชีวิตของหนู และสามารถทำลายไวรัสไข้เลือดออกเดงกีในกระแสเลือดของลิงได้หมดภายใน 2 วัน โดยได้ดำเนินการวิจัยมาตั้งแต่ปี 2552 จดสิทธิบัตรมาแล้วใน 10 ประเทศทั่วโลก ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาให้ใช้ได้ในมนุษย์ คาดว่าจะสามารถนำมาใช้ได้จริงภายในระยะเวลาอันใกล้นี้
 
          รศ.นสพ.ดร.พงศ์ราม กล่าวอีกว่า NhuMAb ที่พัฒนาขึ้นนี้ เป็นประโยชน์กับการรักษาโรคไข้เลือดออกเป็นอย่างมาก เพราะยังคงไม่มียารักษาเฉพาะ รวมทั้งใช้ลดความรุนแรงของอาการป่วยจากไข้เลือดออกได้ NhuMAb จึงเป็นอีกหนทางในการช่วยเหลือผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วโลกที่ต้องการได้ยารักษาและไม่อยากป่วยเป็นไข้เลือดออกชนิดรุนแรง โดยทีมวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศการวิจัยแอนติบอดี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล จะเข้ารับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นดีเด่น ประจำปี 2559 ในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในงานวันนักประดิษฐ์ 2 กุมภาพันธ์ 2559 จัดที่ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา  กรุงเทพฯ
 
 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น